ที่มาและรายละเอียดของวิทยาลัยเพาะช่าง

วิทยาลัยเพาะช่าง เดิมมีชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง เป็นคำที่ได้รับพระราชทานนามมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2456 ซึ่งสืบเนื่องมาจากครั้งงานเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงได้พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมีความห่วงใยต่อเรื่องของศิลปะทางด้านการช่างของประเทศไทยพระองค์จึงทรงได้มีพระราชประสงค์ต้องการจะรักษาเอาไว้ซึ่งศิลปะดังกล่าว อีกทั้งยังทรงเห็นว่าศิลปะจากตะวันตกที่เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างแพร่หลายจะทำให้คนไทยเองลืมเลือนความงดงามของศิลปะไทยไป นั่นจึงพอระบุได้ว่าประวัติที่แท้จริงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2448 กระทรวงธรรมการ หรือ กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ได้ทำการก่อตั้งกองช่างแกะไม้ขึ้นมาเพื่อทำแม่พิมพ์สำหรับการพิมพ์เป็นภาพประกอบเป็นแบบเรียนของกองแบบเรียนในกระทรวงธรรมการที่มีช่างเขียน ช่างไม้ และช่างแกะไม้ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2450 จะทำการยกฐานะกองช่างไม้ ช่างแกะไม้ ให้เป็นสโมสรช่าง เริ่มมีการรับนักเรียนเพื่อทำการฝึกหัดให้เป็นช่างทั้ง 2 แบบ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศิลปหัตถกรรมเลยก็ว่าได้

จากโรงเรียนเพาะช่างจนปัจจุบันกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง ตั้งอยู่ที่ถนนตรีเพชร พระนคร กรุงเทพฯ สีสัญลักษณ์ประจำสถาบันคือสี แดง หมายถึง เลือดของช่างที่มีความสดใสอยู่เสมอ และ ดำ หมายถึง สิ่งที่มีความตรงกันข้ามกับช่าง ความหมายโดยสรุปจึงเป็นว่า อย่าให้สีแดงมันเจือจางจนกลายเป็นสีดำไปในที่สุด นับว่าเป็นสถาบันสอนงานศิลปะของไทยลำดับต้นๆ ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีการเปิดสอนในระดับปริญญาตรี 4 ปี ภาคปกติ รวมถึงภาคสมทบในบางสาขาวิชา ซึ่งสาขาที่วิทยาลัยเพาะช่างได้เปิดสอนประกอบไปด้วย สาขาจิตรกรรมไทย, ประติมากรรมไทย, หัตถศิลป์ไทย, หัตถกรรม, เครื่องปั้นดินเผา, เครื่องโลหะและรูปพรรณอัญมณี, จิตรกรรม, ประติมากรรม, ศิลปะภาพพิมพ์, ศิลปะการถ่ายภาพ, ออกแบบนิเทศศิลป์, ออกแบบภายใน และออกแบบผลิตภัณฑ์ โดย 4 สาขาวิชาหลังนี้มีเปิดสอนในระบบภาคสมทบด้วย

วิทยาลัยเพาะช่างถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องของการสอนเกี่ยวกับศิลปะของไทยในแขนงต่างๆ นับว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน รวมถึงยังมีศิษย์เก่าหลายๆ คนที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมากมาย ที่รู้จักกันดีก็น่าจะเป็น อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี, คุณชาติ กอบจิตติ, อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์, คุณสุเทพ วงศ์กำแหง, คุณชาย เมืองสิงห์ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาอีกแห่งที่ผลิตคนเพื่อประเทศชาติอย่างมากมาย